บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

E-Book E-Magazine สื่อออนไลน์แห่งอนาคต


ประวัติความเป็นมาของนิตยสารออนไลน์
ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมด้านซอร์ฟแวร์  (Software) ทำให้มีการประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาโปรแกรมใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังได้มีการพัฒนาแบบต่อยอด กล่าวคือ เป็นการพัฒนาที่ไม่ได้เริ่มต้นจากจุดแรกแต่เป็นการพัฒนาที่นำเอาผลหรือจากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาต่อและเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ทั้งนี้จะได้ผลเป็นนวัตกรรมชิ้นใหม่ออกมา  เช่นเดียวกันกับการพัฒนาโปรแกรม Word to Flippingbook ซึ่งเป็นโปรแกรมลิขสิทธิ์ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Flippagemaker จำกัด โดยแนวทางพัฒนาโปรแกรมคือ เป็นการนำเอาไฟล์ Word มาเข้ากระบวนการด้วยโปรแกรมเพื่อเปลี่ยนรูปร่างใหม่กลายเป็น e-Books , e-Magazine
e-Books , e-Magazine จึงเป็นสื่อที่มีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวัน  เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น  การเข้าถึงระบบอินเตอร์เนตที่ง่ายขึ้น รวมทั้งฮาร์ดแวร์และซอร์ฟแวร์มีราคาที่ต่ำลง และด้วยความสะดวกในการใช้งานของ e-Magazine ในการเปิดพลิกหน้ากระดาษโดยการใช้ Mouse หรือ Keyboard เป็นตัวควบคุม มีปุ่มคำสั่งให้กดควบคุมเพื่อความสะดวกในการใช้งาน ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมด้านการพัฒนาโปรแกรมยุคใหม่  เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตเอกสาร หนังสือ หรือตำราอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต  
เมื่อเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์พัฒนาจนสามารถสร้างนิตยสารออนไลน์ได้ง่ายขึ้น บวกกับโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รูปแบบของนิตยสารออนไลน์จึงมีหลากหลายกว่าเดิม ทั้งในรูปแบบในการนำเสนอที่เป็นการเปิดหน้ากระดาษคล้ายหนังสือจริง (Flip page) สร้างขึ้นโดยโปรแกรม อะโดบี แฟลช หรือในรูปแบบไฟล์ โดยผู้อ่านจะต้องดาวน์โหลดไฟล์ของนิตยสารออนไลน์ลงมาไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์และเปิดอ่าน ซึ่งขนาดไฟล์มีตั้งแต่ไฟล์เล็กๆไปจนถึงขนาดหลายร้อยเม็กกะไบต์

วิวัฒนาการนิตยสารออนไลน์ในประเทศไทย
ในประเทศไทยยุคของ e-Magazine เริ่มจากการปรากฏโฉมของ มินิซีดี PC Magazine 2000 ในนิตยสาร PC Magazine ปี 2543 มาบันทึกไว้ในแผ่นมินิซีดี ที่มีชื่อว่า "PC Magazine 2000" ซึ่งมีขนาดเพียง 3" ทำให้คุณสามารถพกพา PC Magazine ทั้ง 12 เล่มไปอ่านได้ทุกที่ทุกเวลา แม้ว่าการอ่านในช่วงเวลานั้นจะยุ่งยากกว่าสมัยปัจจุบันบ้าง เพราะตัวนิตยสารอยู่ในรูปแบบของมินิซีดี ภายในบรรจุไฟล์บทความที่เป็นฟอร์แมต PDF หรือ Acrobat พร้อมผู้ใช้งานต้องมีโปรแกรม Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์ของนิตยสารด้วย
ที่แตกต่างจากในปัจจุบันที่นิตยสารออนไลน์หรือ e-Magazine ที่ผู้บริโภคเริ่มเข้าถึงเทคโนโลยีที่มากขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มือถือ คอมพิวเตอร์ มีราคาที่ถูกลงในการเป็นเจ้าของ ตลอดจนบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศไทยก็มีการปรับตัวเข้าสู่การเป็นนิตยสารออนไลน์กันมากขึ้น เช่น นิตยสารอสท. Maxim เป็นต้น โดยเมื่อจัดทำแล้วจัดเก็บในรูปแบบของไฟล์ข้อมูล และฝากในเว็ปไซต์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระในนิตยสารนั้นๆ ทำให้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด e –Magazine มาอ่านได้อย่างฟรีและสะดวก เช่นในสมาร์ทโฟนชั้นนำ แท็ปเลต และคอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะเจาะตลาดไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่


PC Magazine ฉบับที่ 27 เมษายน 2544

       จุดเด่นของ e –Magazine
ข้อดีของ e –Magazine อีกหลายประการ เช่น ผลิตได้ง่าย สะดวก ปรับปรุงได้ตลอดเวลา มีต้นทุนการผลิตต่ำ ไม่เปลืองพื้นที่ในการจัดเก็บเอกสาร  ทำสำเนาเอกสารได้ง่าย  สามารถนำเสนอผ่านสื่อได้หลายช่องทาง  การส่งผ่านถึงผู้รับโดยตรงทาง e-mail หรือ ผ่าน Social Network การเผยแพร่ออนไลน์บนเว็บ เปิดชมได้บน iPad, iPhone, iPod Touch, Samsung Galaxy Tab บันทึกลงบนแผ่น CD เพื่อเปิดชมแบบออฟไลน์ สามารถสร้างรายได้ของนิตยสารจะมาจากการขายหน้าโฆษณาออนไลน์ให้กับสินค้าต่างๆ และความสำคัญอีกประการหนึ่งคือเป็นวิธีการผลิตหนังสือหรือตำราสมัยใหม่ที่ไม่ใช้กระดาษ ช่วยลดสภาวะการตัดไม้ทำลายป่าและภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี


ความแตกต่างระหว่างนิตยสารฉบับกระดาษกับนิตยสารออนไลน์
ข้อแตกต่างระหว่างนิตยสารฉบับกระดาษกับนิตยสารออนไลน์คือ เทคนิคในการนำเสนอ ซึ่งนิตยสารออนไลน์จะใช้การออกแบบจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่มีเสียง ภาพเคลื่อนไหว และสามารถย่อขยายหน้า ตลอดจนเพิ่มการสืบค้น การลิงก์หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ต่อเชื่อมกัน การ Navigate ข้ามบทความ หรือการพลิกอ่านข้อความต่างๆที่สอดคล้อง บางฉบับมีครบทุกอย่าง บางฉบับมีแค่ข้อใดข้อหนึ่ง
ถ้าหากนิตยสารออนไลน์ฉบับนั้นมีครบก็ทำให้ผู้เข้าอ่านสะดวกมากขึ้น และเป็นการดึงกลุ่มคนอ่านให้เข้ามาอ่านมากขึ้น แต่เทคนิคในการพิมพ์หนังสือ ซึ่งก็คือ การเขียนโปรแกรม ก็ต้องสูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในตอนเริ่มต้นของนิตยสาร โดยส่วนใหญ่จะไม่มีลักษณะดังกล่าว ซึ่งง่ายสำหรับการเริ่มต้นและการทดสอบการยอมรับของผู้อ่าน เมื่อเริ่มต้นออกนิตยสารออนไลน์ ประเด็นสำคัญคือ Content is gold "เนื้อหาสาระคือทอง" ที่จะมัดใจและสร้างความภักดีต่อผู้บริโภคได้

ตลาดอีบุ๊ก-อีแมกกาซีนในต่างประเทศ
สิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนน่าจะมาจากยอดขายอีบุ๊กอีแมกกาซีนของเว็บขายหนังสือ ชื่อดังอย่าง Amazon.com ที่มีสัดส่วนรายได้จากการขายหนังสือกับอีบุ๊กอีแมกกาซีนอย่างละครึ่ง รวมไปถึงยอดขาย คินเดล (Kindel) เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ของค่าย Amazon ที่คาดว่าจะทะลุ 10 ล้านเครื่องในปีนี้            ด้วยความร้อนแรงของตลาดอีบุ๊กอีแมกกาซีนเริ่มเพิ่มขึ้นอีก เมื่อยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิล ส่ง ไอแพด (iPad) ออกสู่ตลาดเครื่องลูกผสมระหว่างเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเล่นเกม เพลงและอินเทอร์เน็ตด้วยยอดขาย 3 แสนเครื่องในวันแรกที่เปิดตัว  การที่แอปเปิลส่งไอแพดมาลงตลาดถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมสื่ออีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ได้ทำให้อุตสาหกรรมเพลงสั่นสะเทือนมาแล้ว การบุกตลาดสื่อสิ่งพิมพ์ครั้งนี้ แอปเปิลได้เปิด ร้านขาย Contents ออนไลน์ในแบบ ที่ตนถนัดขึ้นมาเช่นเคย โดยให้ชื่อว่า ไอบุ๊กสโตร์และทำการจัดหาหนังสือป้อนให้กับเครื่องไอแพดโดยเฉพาะ ซึ่งในช่วงแรกที่ได้ดึงสำนักพิมพ์ใหญ่รวมถึงหนังสือชื่อดังมาไว้บน ไอบุ๊ก- สโตร์ไม่ว่าจะเป็น Penguin Books, Harper Collins, Simon & Schuster Macmillan Publishers, Hachette Book Group USA หรือจะเป็นหนังสือพิมพ์อย่าง Wall Street Journal และ New York Times เป็นต้น



ตลาดอีบุ๊กอีแมกกาซีนในเมืองไทย
ในเมืองไทยตลาดอีบุ๊กอีแมกกาซีนกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากกระแสอีบุ๊ก อีแมกกาซีนในต่างประเทศมีทิศทางที่เติบโตอย่างมากใน 1-2 ปีที่ผ่านมา และกูรูด้านเทคโนโลยีต่างพาออกมาแสดงความ คิดเห็นถึงอีบุ๊กว่า อีกไม่นานจะกลายเป็นพระเอกในโลกดิจิตอลแน่นอน
จากกระแสดังกล่าว  ทำให้ ทรู ดิจิตอล คอนเทนต์ แอนด์ มีเดีย บริษัทในกลุ่มของ ทรู ได้ทำการเปิดตัวเว็บไซต์ Truebookstore.com โดยร่วมมือ กับสำนักพิมพ์หลายแห่ง ถือเป็นคลังหนังสือดิจิตอลที่สามารถโหลดคอนเทนต์ออกมาไว้บนอีบุ๊ก เจ้าแรกของไทย ซึ่งได้ทำการตลาดร่วมกับเบ็นคิวในการออกเครื่อง อี-รีดเดอร์ “BenQ E-reader N60” ที่รองรับภาษาไทยเป็นเครื่องแรกในขณะนี้
          โดยเว็บไซต์นี้มีอีบุ๊กให้บริการมากกว่า 1,000 เล่มจากสำนักพิมพ์ต่างๆ กว่า 20 แห่งที่เข้าร่วมในช่วงแรก ได้แก่ นานมี บุ๊ก พับลิเคชั่นส์, วิบูลย์กิจ, ลีลาบุ๊ก, สถาพรบุ๊กส์, แสงดาว, แบร์ พับลิชชิ่ง, บิสซี่เดย์, บุ๊กสไมล์, ฟิวเจอร์เกมเมอร์, ทิบ ไทย อินเตอร์ บุ๊ก, มาร์เก็ตเทียร์, โพรวิชั่น, เคล็ดไทย, ดีเอ็มจี และประพันธ์-สาส์น รวมถึงผลงานจากนักเขียนอิสระด้วย
          ด้วยจุดเด่นของอีบุ๊กและเทรนด์ การอ่านรูปแบบใหม่ที่กำลังมาแรงทั่วโลก ทรูได้ออกมาประกาศถึงความมั่นใจว่า ภายในสิ้นปีนี้ True Digital Book Store แห่งนี้จะก้าวเป็นคลังหนังสือดิจิตอล ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย เพราะทรูมีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี บริหารจัดการ และระบบการชำระเงินที่ครบวงจร
         
สำนักพิมพ์และนักเขียนกับปรับตัวสู่ยุคออนไลน์
ปัจจุบันนี้คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือในแต่ละวันลดลงเรื่อยๆ และถือว่าต่ำมาก เพราะขณะนี้ได้มีการสำรวจพบว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 2 เล่ม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์มีการอ่านหนังสือ 40-50 เล่มต่อปี หรือเวียดนาม 60 เล่มต่อปี การที่มีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออกมานั้นถือเป็นเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีไปในทางที่ดี อาจจะทำให้คนสนใจหันมาอ่านหนังสือมากขึ้น
เมื่อมองถึงข้อดีของเทคโนโลยี อีบุ๊กอีแมกกาซีนที่ทำให้นักอ่านตาโตที่มองว่าต่อไปสามารถ แชร์กันอ่านได้กับเพื่อน และสามารถ อ่านได้ทุกที่ทุกเวลาไม่ว่าจะจากโน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือ อี-รีดเดอร์ แต่ข้อดีต่างๆ เหล่านี้อาจกลายเป็นผลกระทบต่อนักเขียนได้ เนื่องจากรายได้ ของนักเขียนจะมาจากเปอร์เซ็นต์ของ ยอดขาย ซึ่งหากผู้ให้บริการดาวน์โหลด อีบุ๊กไม่มีกฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการจะทำให้กระทบถึงยอดขาย และยังมีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์จากการ ดาวน์โหลดอ่านฟรีจากโปรแกรมประเภท Bit Torrent โดยปัญหานี้เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญอยู่ ซึ่งต้องปลูกฝังค่านิยมให้แก่ผู้อ่าน รวมถึงต้องมีการตกลงเรื่องค่าลิขสิทธิ์ให้ถูกต้องและการทำข้อตกลง เพื่อให้เข้าใจทั้ง สองฝ่าย
เห็นได้ว่า กระแสที่กำลังเข้ามาของอีบุ๊ก อีแมกกาซีน อาจเกิดทั้งในด้านบวกและด้านลบได้ คือ ในส่วนของด้านบวก ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากราคาหนังสือที่ถูกลง พกพาง่าย ซึ่ง ส่วนนี้ช่วยขยายฐานคนอ่าน ขณะเดียวกัน นักเขียนหน้าใหม่ก็จะเกิดได้ง่ายขึ้น แต่ในส่วนด้านลบคือ เรื่องของยอดขาย การละเมิดลิขสิทธิ์ และการทำธุรกิจในปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนจากหน้ามือ เป็นหลังมือ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจสำนักพิมพ์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยต้องเตรียมรับมือในการ เตรียมบิสซิเนสโมเดลสำหรับเทรนด์ใหม่ นี้เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ต่อไปและเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ด้วยแท้จริง
แนวโน้มของนิตยสารออนไลน์
ปัจจุบันมีผลวิจัยของวัยรุ่นไทยมากมายต่อไลฟสไตล์ของคนยุคใหม่ในประเทศไทย อันส่งผลถึงการเติบโตของสื่อออนไลน์ทั้งหลาย รวมถึงนิตยสารออนไลน์หรือ E-Magazine เช่นงานวิจัยในการใช้เวลาอยู่กับสื่อต่างๆ ต่อวัน มากกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียแปซิฟิก สื่อ เวลาที่วัยรุ่นไทยใช้ (ชั่วโมง) เวลาเฉลี่ยของเอเชียแปซิฟิก (ชั่วโมง)
  • โทรทัศน์             5.7
  • อินเทอร์เน็ต        3.1
  • วิทยุ                  1.3
  • นิตยสาร            0.8
  • หนังสือพิมพ์      0.9
    ข้อมูลจาก : Synovate Young Asian Survey
ซึ่งพบว่ากลุ่มวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่บริโภคสื่อทางอินเตอร์เนตมากขึ้น และเริ่มมีบทบาทต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องมีการแข่งขันกันสูง ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่เร่งรีบด้วยกันทั้งหมด
ตลอดจนอัตราความคลั่งไคล้เทคโนโลยีในการถือครองเป็นเจ้าของอุปกรณ์ไฮเทคในประเภทต่างๆ ของคนไทย พบว่าคนไทยเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือเพิ่มสูงขึ้น รองลงมาเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และเครื่องเล่น MP3 อย่าง iPod และมีแนวโน้มที่คนไทยจะเป็นเจ้าของอุปกรณ์ไฮเทคที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากราคาอุปกรณ์ไฮเทคที่มีการแข่งขันกันสูงก็ทำให้ราคาฮาร์ดแวร์ลดต่ำลง
ที่มาจากนิตยสาร MBA ฉบับที่ 146 มิถุนายน 2554 หน้า 61.

จึงปฎิเสธไม่ได้ว่ายุคดิจิตอลของไทย เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย และต้องจับตาเทรนด์ E-Books หรือ E-Magazine ที่ทวีความรุนแรง ส่งแรงกระเพื่อมไปยังสื่อแมกกาซีนและหนังสือพิมพ์พลิกโฉมไปสู่ Digital Magazine เต็มรูปแบบ ตอบโจทย์เซกเมนต์คนรุ่นใหม่เฉพาะกลุ่ม ด้วยไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป หันมานิยมในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น ประกอบกับการเติบโตมือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวไม่หยุดนิ่ง ล้วนเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้อีบุ๊ก กลายเป็นสื่อที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ผลิตในวงการสื่อสิ่งพิมพ์อย่าง แมกกาซีน หนังสือพิมพ์ และพ็อกเกตบุ๊ก ต่างพาเหรดลงสู่สนามสื่อใหม่นี้กันถ้วนหน้า
แต่ต้องยอมรับนิตยสารออนไลน์ยังไม่แมสมากมายนัก ซึ่งคงต้องรอปัจจัยตอบรับจากการเข้าถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของผู้บริโภค โดยอาจต้องรอราคาเครื่องถูกกว่านี้ โดยวงการสิ่งพิมพ์ชี้บทบาทของ E-Magazine เป็นสื่อทางเลือกใหม่ที่ต้องเติบโตแบบคู่ขนานไปพร้อมกับพรินต์ แมกกาซีน ส่วนพ็อกเกตบุ๊กยังไม่กระทบ เพราะต้องรอเวลาอีก 3-5 ปี
                
       สอดคล้องกับมุมมองของ อุปนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ & ผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย วรพันธ์ โลกิตสถาพร บอกกับเราว่า เนื่องจากไลฟ์สไตล์คนไทยปัจจุบันเปลี่ยนแปลงหันไปนิยมในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บุ๊กเพิ่มมากขึ้น ที่มีจุดเด่นคือ ความสะดวก ส่งผลให้กระแส E-books หรือ Electronic Books ได้รับการตอบรับมากขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ ส่งผลกระทบต่อสื่อหลัก อาทิ สื่อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร จำเป็นต้องปรับตัวไปสู่รูปลักษณ์ใหม่ในแนวทางนี้มากขึ้น ขณะที่พ็อกเกตบุ๊กนั้นยังไม่ได้รับผลกระทบชัดเจนนัก เพราะยังไม่ถึงเวลา โดยต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง
    
       “ตอนนี้ชัดเจนขึ้นว่ากระแสอีบุ๊กมาแรง โดยเฉพาะวงการสื่อแมกกาซีนมีการตอบรับมากขึ้น โดยผู้ผลิตเนื้อหาหลายรายได้เคลื่อนไหวเดินหน้าสู่ตลาดนี้กันบ้างแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากสื่อแมกกาซีนเป็นสื่อที่บุกเบิกสิ่งใหม่ๆ อีกทั้งคอนเทนต์มักมีเนื้อหาสั้นๆ และรูปนำเสนอจำนวนมาก ดังนั้น หากอ่านในรูปของอีบุ๊กจะเกิดความสะดวกมากกว่า เพราะไม่ต้องอ่านยาว ทำให้เสพอ่านง่ายกว่า
    
       “แม้ E-Book หรือ E-Magazine จะแจ้งเกิดในตลาด แต่ก็เติบโตกับเฉพาะกลุ่มเท่านั้น โดยตอบรับได้ดีจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น คนทำงาน แต่สำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ และคนทั่วไปต้องใช้เวลานานพอสมควร เนื่องจากพฤติกรรมคนรุ่นใหม่คุ้นเคยกับอีบุ๊กมาบ้าง ก็มีการดาวน์โหลดแมกกาซีนมาอ่านบ้าง ขณะที่ราคาของแมกกาซีนพรินต์และแบบอิเล็กทรอนิกส์ฟอร์มแตกต่างกัน โดยประเภทอีบุ๊กมีราคาถูกกว่า เพราะสามารถหาซื้อได้ด้วยการดาวน์โหลด ไม่ต้องใช้กระดาษแต่อย่างใด”
    
       อนาคตภาพรวมของสื่อแมกกาซีนเมืองไทย จะมีการเติบโตแบบคู่ขนานระหว่างพรินต์ แมกกาซีน หรือนิตยสารที่ผลิตจากกระดาษ โดยพรินต์แมกกาซีนยังคงอยู่ในตลาดและเติบโตต่อไป เพราะจุดขายในด้านรูปลักษณ์ขนาดใหญ่ที่สามารถนำเสนอเรื่องราว ภาพ ได้อย่างจุใจกลุ่มเป้าหมายคนอ่านได้อย่างชัดเจน ขณะที่ E-Magazine ก็เป็นทางเลือกใหม่ที่มีลูกเล่นด้านมัลติมีเดีย ภาพและเสียงเคลื่อนไหวทั้งในส่วนที่นำเสนอเนื้อหา ภาพ และโฆษณา ทำให้ลูกค้าสามารถสร้างสรรค์งานใหม่และดึงดูดใจผู้บริโภค พร้อมทั้งยังประหยัดต้นทุนการผลิต และสร้างผลกำไรและรายได้ให้กับผู้ผลิต เนื่องจากไม่ต้องใช้กระดาษและสต๊อกสินค้า อันเป็นต้นทุนหลักของผู้ผลิตจำต้องหมดไป และไม่ต้องผลิตเผื่อจำนวน โดยฉบับใดคนชอบก็สามารถดาวน์โหลดได้ไม่จำกัดจำนวน จำหน่ายได้มาก
โดยปัจจัยชี้ขาดว่า ทิศทางการตลาดของ E-Magazine จะเติบโตได้มากหรือน้อยขนาดใดขึ้นนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ของนิตยสารอีกต่อไปแล้ว แต่อุปกรณ์ไฮเทคหรือฮาร์ดแวร์นั่นเป็นสำคัญ ไม่ใช่เป็นเรื่องคอนเทนต์แล้ว
 

ปกรณ์ สุขสำราญ  535156030002
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นิเทศศาสตร์สารสนเทศ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาสัมมนากลยุทธ์ นโยบายการวางแผนสื่อใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น